เคล็ดลับครู

aspieinfo-big-s

การสังเกตพฤติกรรมเด็กแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger’s Syndrome)

Asperger’s Syndrome จัดเป็นกลุ่มอาการพบในช่วงวัยเด็กและอาการนั้นจะลากยาวต่อมาถึงแม้จะมีอายุมากขึ้นแล้วก็ตาม Asperger’s Syndrome จัดอยู่ในกลุ่มอาการระบบประสาทผิดปกติ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มออทิสติก แต่ไม่เหมือนกันซักทีเดียว เด็กที่เป็นออทิสติก จะประสบปัญหาในเรื่องของการพูด อีกทั้งยังมีอาการผิดปกติรุนแรงอย่างอื่นร่วมด้วย ซึ่งแตกต่างจากเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ โดยเด็กเหล่านี้ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้ ไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อนแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม กลับมีพรสวรรค์พิเศษบางอย่างเพื่อมาทดแทน เช่น ความสามารถทางการคำนวณ,ความสามารถเชิงตรรกะ เป็นต้น เพราะฉะนั้นปัญหาอันสำคัญยิ่งของแอสเพอร์เกอร์ คือ การไม่กล้ามีความสัมพันธ์กับสังคมและบุคคลภายนอก

สาเหตุของแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม

เกิดจากการทำงานของสมองบางตำแหน่งผิดปกติไป แต่สาเหตุที่ทำให้สมองทำงานผิดปกตินั้นยังไม่สามารถระบุได้ แม้ว่าจะมีการวิจัย แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า น่าจะเกิดจากความบกพร่องของสารพันธุกรรม อันเกิดจากการถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น เมื่อความผิดปกติสะสมมากพอจึงแสดงอาการออกมา หรืออาจจะเป็นการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งก็ต้องทำการศึกษาวิจัยไปอีกสักระยะ นอกจากนี้ยังมีอีกความเชื่อหนึ่ง คือ เกิดจากสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด
การสังเกตพฤติกรรมเด็กแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
เด็กที่เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม จะเริ่มมีการแสดงอาการออกมาตั้งแต่ช่วงอายุ 3 ขวบ แต่อาการจะเริ่มเด่นชัดเมื่ออายุระหว่าง 5-9 ขวบ โดยโรคนี้ไม่ได้แสดงออกมาทางรูปร่าง หน้าตา ซึ่งเป็นอีกข้อที่แตกต่างจากเด็กที่เป็นออทิสติก แต่จะแสดงออกมาให้เห็นจากพฤติกรรม แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ

1.ด้านภาษา
– เด็กที่ป่วยโรคนี้ในบางครั้งจะมีการพูดโดยไม่ได้เรียงลำดับคำเหมือนคนทั่วๆไป ผู้ฟังอาจเกิดความงุนงง โดยเฉพาะ มุกตลก คำเปรียบเปรย คำเสียดสี เขาไม่สามารถเข้าใจได้เลย
– ชอบพูดเรื่องของตัวเองมากกว่าเรื่องอื่น ๆ พูดแต่เรื่องซ้ำเดิมๆ โดยใช้คำพูดเหมือนเดิม
– มีปัญหาในด้านทักษะ การอ่าน คณิตศาสตร์ และ การเขียน
– ไม่มีการทักทาย ถ้าอยากถามอะไรก็ถามเลย ไม่มีการเกริ่นนำ ไม่บอกที่มาที่ไป

2.ด้านสังคม
– ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ชอบอยู่คนเดียว ไม่สนใจบุคคลรอบข้าง
– ไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ เข้ากับคนอื่นไม่ค่อยได้
– ไม่รู้จักกาลเทศะในการอยู่ร่วมในสังคม ไร้มารยาท
– ไม่มีมารยาทในการสื่อสาร เวลาพูดคุยจะไม่สบตา หรือ มองหน้า
– ไม่แสดงความสนใจกับกิจกรรมความสนุกใดๆ หรือไม่อยากร่วมงานให้เกิดความสำเร็จกับคนอื่นๆ
– ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกหรือขาดสัมพันธภาพตอบสนองกับสังคม
– บางรายพบว่ามีพฤติกรรมสุดโต่ง และจิตใจอ่อนไหวง่ายมาก

3.ด้านพฤติกรรม
– ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ หมกมุ่นกับเรื่องที่ชอบ โดยเฉพาะเรื่องซับซ้อน เช่น วงจรไฟฟ้า ยี่ห้อรถยนต์ ดนตรีคลาสสิก สิ่งมีชีวิตช่วงยุคหิน ระบบสุริยจักรวาล เป็นต้น ซึ่งความสนใจนี้เป็นแบบ รู้ลึก รู้จริง และมีความสามารถในเรื่องนั้นๆสูงมาก
– เปลี่ยนใจได้ง่ายตลอดเวลา ความคิดรวนเรไม่แน่นอน
– ท่าทางการเดิน การเคลื่อนไหวของร่างกายดูงุ่มง่าม แตกต่างจากคนทั่วไป
– อาจมีพฤติกรรมการพูดหรือพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม